เมื่อเด็กไปโรงเรียน โรงเรียนยังสอนแบบท่องจำ และให้แปล จะทำอย่างไรดี?

ต้องทำ “สองทำ” ครับ…อันดับที่หนึ่งต้อง “ทำใจ” เพราะโรงเรียนคงไม่เปลี่ยนวิธีการสอนง่ายๆ คงจะอีกนานล่ะครับ ข้อที่สองต้อง “ทำเอง” นั่นก็คือการสอนอย่างที่เราทำ ดังนั้นเราต้องรักษาสมดุลที่เกิดขึ้นระหว่างการสอนของโรงเรียนกับการสอนแบบสองภาษา ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความถี่ของโรงเรียนอาจจะกลืน..และเปลี่ยนเด็กได้ หลักข้อที่หนึ่งซึ่งเป็นหลักในการสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาที่สำคัญมากที่สุด คือ “ไม่แปล” เพื่อเป็นการบังคับให้เด็กตีความและสร้างโหมดภาษาที่สองให้เกิด แต่โรงเรียนสอนแบบแปล สิ่งนี้จะทำลายการสร้างโหมดและเด็กจะติดการแปล กลายเป็นเด็กภาษาสองชั้น ไม่ใช่เด็กสองภาษา พ่อแม่จะต้องต่อสู้ด้วยความถี่และศรัทธา ถ้าความถี่ของโรงเรียนมากกว่าหรือเด็กเชื่อครูมากกว่าพ่อแม่ เด็กจะถูกกลืนกินกลายเป็นเด็กภาษาสองชั้นในที่สุด มีครอบครัวสองภาษาหลายครอบครัวใช้วิธีประนีประนอมกับโรงเรียน เช่นครอบครัวแม่น้องเนย ที่ต้องทำใจกับการสอนแบบโรงเรียน แต่เมื่อกลับมาบ้านก็สอนแบบสองภาษา และก็บอกเด็กว่า ไม่ควรทำอะไรบ้าง เช่นไม่ต้องแปล ให้พูดไปเลย ให้ออกเสียงให้ถูกต้องเมื่อคุยกับแม่ แต่อาจจะต้องออกเสียงสำเนียงไทยตามที่โรงเรียนสอนด้วย

ชอบแนวความคิดเด็กสองภาษา และอยากให้โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษตามแนวคิดนี้ เป็นไปได้หรือเปล่า?

ผมเองก็อยากให้ผู้บริหารโรงเรียนลงมาศึกษาแนวคิดนี้อย่างจริงจัง สี่ห้าปีที่ผ่านมาแนวความคิดเด็กสองภาษา กระจายสู่สังคมไปเป็นวงกว้าง จนคำว่าเด็กสองภาษากลายเป็นคำฮิตติดปากในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กไป แต่ที่ผ่านมามีครูไม่กี่คนเท่านั้นที่มาศึกษาแนวคิด เอาหนังสือไปอ่านและมาเข้าเวิร์กช็อป เพื่อเอาสิ่งนี้ไปปรับใช้ในการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนเกือบทั้งหมดก็ยังคงสอนแบบเดิมๆที่เคยผ่านมา คำถามแบบนี้ก็มักจะผุดขึ้นมาในการบรรยายเวิร์กช็อปแต่ละครั้ง และผมก็ต้องบอกพ่อแม่ทุกคนว่า เราคงจะเปลี่ยนวิธีคิดของโรงเรียนได้ลำบาก ไม่รู้ต้องรอไปนานแค่ไหน ดังนั้นพ่อแม่จำเป็นต้องดูแลและฝึกลูกด้วยตัวเราเอง อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีความหวังอยู่ และผมเชื่อว่าความหวังนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีกลุ่มพ่อแม่จำนวนหนึ่งที่รวมกันเรียกร้องให้โรงเรียนปรับเปลี่ยนวิธีสอน เราต้องรวมพลังกันครับ ส่วนตัวผมเองนั้นมีโอกาสได้ไปเสนอแนวคิดเด็กสองภาษาให้กับรัฐมนตรีช่วย (สมัยนั้น) ท่านสนใจมาก แต่ท้ายสุดเรื่องก็ไม่ได้เดินต่อ และก็เปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น ดังนั้น ผมคิดว่าอย่าไปฝากความหวังอะไรกับระบบโรงเรียนมากมาย ให้เริ่มต้นจากตัวเราดีที่สุดครับ

เลือกโรงเรียนให้ลูกอย่างไรดี ต้องเป็นสองภาษาไหมคะ?

การเลือกโรงเรียนนั้นมีเรื่องที่ต้องนำมาคิดเยอะ และผมเชื่อว่าพ่อแม่จำนวนมากมีหลักการเลือกโรงเรียนอยู่ในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของโรงเรียนที่ดูดีมีระดับ สถิติของนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สูง แนวทางการสอนของโรงเรียน และเหตุผลอื่นๆอีกมากมาย แต่ถ้าพ่อแม่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษ ผมพอจะสรุปประเด็นหลักๆดังนี้ครับ โรงเรียนไทย…เท่าที่เห็นมา ก็ยังยึดแนวทางการสอนแบบเดิมอยู่ สอนแบบแปล สอนไปเพื่อสอบ ไม่เน้นฟังพูด เน้นอ่านเขียน ค่าเทอมไม่แพง ส่วนค่าแปะเจี๊ยะก็ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของโรงเรียน โรงเรียนสองภาษา…มีฝรั่งเป็นคนสอนบางส่วน เวลาที่เหลือก็เป็นครูไทย ใช้หลักสูตรไทยเป็นหลัก ค่าเทอมจะแพงกว่าโรงเรียนไทยพอสมควร ถึงแม้จะเก็บค่าเทอมแพง แต่โรงเรียนสองภาษาก็ยังประสบปัญหาการหาครูฝรั่งที่มีคุณภาพมาสอน เพราะงบจ่ายให้กับครูฝรั่งนั้นยังไม่เยอะมากพอที่จะจ้างฝรั่งคุณภาพได้ ทำให้โรงเรียนจำนวนมาก นำฝรั่งที่สอนไม่เป็นมาสอน และฝรั่งพวกนี้จำนวนไม่น้อยมาทำงานสอนเพียงชั่วคราว เพื่อจะเดินทางท่องเที่ยวต่อ ถ้าโรงเรียนไหนที่ได้ครูฝรั่งที่ดีก็โชคดีไป ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ครูฝรั่งสอนไป และมีครูไทยมาแปลให้ เด็กก็ยังคงเสพติดการแปลอยู่ และจะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ สำหรับโรงเรียนอินเตอร์…ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้นกว่าในอดีตพอสมควร แต่โรงเรียนอินเตอร์ก็มีค่าเทอมที่แพงมาก หลักสูตรจะใช้ของต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงวันเวลาในการปิดภาคเรียนที่แตกต่างจากโรงเรียนไทย แน่นอนที่สุดโรงเรียนอินเตอร์ไม่มีการแปล ปริมาณความถี่การใช้ภาษาอังกฤษที่รายล้อม ก็ทำให้เด็กมีโอกาสฝึกในการฟังและพูดมากขึ้น แต่สิ่งที่ผู้ปกครองมักไม่รู้เกี่ยวกับโรงเรียนอินเตอร์ก็คือ นักเรียนไทยในโรงเรียนอินเตอร์ปัจจุบันมีมากจนเกือบจะทั้งห้อง ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะจัดหาครูฝรั่งที่มีคุณภาพมาสอนได้ดีกว่าโรงเรียนปกติ แต่โรงเรียนก็ไม่ได้เน้นการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ดีมากนัก เพราะแค่เนื้อหาวิชาการที่มีอยู่ ครูก็สอนแทบไม่ทันอยู่แล้ว ดังนั้นคุณจะเห็นนักเรียนไทยในโรงเรียนเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยอยู่เป็นจำนวนมาก เด็กจำนวนไม่น้อยเมื่อเลิกเรียนก็จับกลุ่มคุยแต่ภาษาไทยในโรงเรียน ดังนั้นสรุปแล้วทุกโรงเรียนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ผมอยากให้พ่อแม่เลือกโรงเรียนตามเงื่อนไขและกำลังของครอบครัวเป็นหลัก อย่างไรเราก็ต้องดูแลและสอนเขาเองจากครอบครัวอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการออกเสียงและการพูดจากความรู้สึก และผมอยากจะให้มีคุณสมบัติข้อหนึ่งที่อยู่ในใจก่อนเลือกโรงเรียนด้วย นั่นก็คือ “ใกล้บ้าน” ครับ