รู้ก่อนเริ่ม

รวมคำถามคำตอบยอดฮิตตลอดที่ผมได้เผยแพร่แนวคิดเด็กสองภาษามากว่า 10 ปี

พ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้อย่างไร?
พ่อแม่ฝึกและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก งานของพ่อแม่ที่แท้จริงคือเป็นต้นแบบและเป็นโค้ชให้กับเด็ก การเริ่มพูดเสียงที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น คำ วลี ประโยค หลีกเลี่ยงการประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ถ้าไม่มั่นใจ ค่อยๆฝึกทีละขั้น มีแนวคิดที่แข็งแกร่งนำทางครับ


อ่านหนังสือแล้วทำไมต้องมีโค้ชดูแลอีก?
เปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับการเล่นกีฬา สามารถเล่นเองได้ แต่ถ้าต้องการเป็นนักกีฬาและเล่นให้เก่ง นักกีฬาเกือบทุกคนก็ต้องมีโค้ช เพื่อช่วยดู ช่วยประเมิน ปรับแก้ไขและออกแบบการฝึกให้

ทำไมการสอนเด็กสองภาษาต้องอาศัยแนวคิด?
บ่อยครั้งเวลาที่ผมบรรยายเรื่องแนวคิดเด็กสองภาษาไม่ว่าจะเป็นเวทีเล็ก เวทีใหญ่ หรือให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไปจนถึงรายการทีวี ก็มักจะมีคำถามยอดฮิตประมาณว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดีและขอหลักแบบง่ายๆในการสอน

เมื่อตั้งต้นคำถามมาแบบนี้ ผมก็ตอบไปทุกครั้งว่าเคล็ดลับการสร้างลูกเป็นเด็กสองภาษานั้นมีแค่สองเรื่อง นั่นก็คือ
หนึ่ง..พ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจแนวคิดเด็กสองภาษาอย่างลึกซึ้ง อย่าสอนโดยไม่มีหลักอะไรจับยึด เพราะนั่นอาจจะทำให้การสอนผิดทาง พ่อแม่อาจจะไม่สามารถส่งเด็กเป็นเด็กสองภาษาได้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทิ้งช่วงเวลาทองคำไป

สอง..พ่อแม่จะต้องเข้าใจวิธีการดูแลเสียงของเด็กให้ได้ เพราะพ่อแม่ต้องเป็น “ต้นแบบ” และเป็น “โค้ช” ที่ช่วยดูแลการฝึกให้เป็นเด็กสองภาษาที่ออกเสียงได้อย่างมีคุณภาพ ถึงแม้พ่อแม่จะไม่เก่งอังกฤษก็ทำได้ เพียงแต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องเก่งก็คือ..เก่งการดูแลการฝึก

สิ่งที่ผมตอบไปสั้นๆเพียงสองข้อ แต่จริงๆแล้วมันมีการเชื่อมต่อร้อยเรียงกันของแนวคิดทั้ง 9 ข้อ มีความลึก มีรายละเอียดในแต่ละข้อว่าเหตุใดถึงต้องทำแบบนั้น ทำไมถึงทำแบบนี้ ถ้าทำไม่ครบจะส่งผลอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากให้พ่อแม่ที่กำลังสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้รับรู้อย่างลึกที่สุด


พูดจากความรู้สึกคืออะไร ทำไมต้องฝึกให้ลูกพูดจากความรู้สึก?

“การพูดจากความรู้สึก” นี่คือหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่แยกการสอนภาษาอังกฤษตามแนวคิดเด็กสองภาษากับภาษาอังกฤษทั่วๆไป โดยเฉพาะในโรงเรียน เพราะเราไม่แปล ไม่ท่องศัพท์ ไม่ต้องมีสคริปต์ แต่กระบวนการฝึกเราเน้นให้เด็กค่อยๆพูดออกมาจากความรู้สึกภายในเอง ไม่ต่างกับเราที่พูดภาษาไทย โดยไม่ต้องคิดเรื่องไวยากรณ์ ใช้ความรู้สึกล้วนๆ และยังมั่นใจ ทั้งที่ไม่เคยท่องศัพท์ภาษาไทยสักคำ

ที่น่าแปลกใจก็คือ ผมได้นำเสนอแนวคิดเด็กสองภาษา ในเรื่องการพูดจากความรู้สึกมาตั้งแต่ปี 2009 ในหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ หลังจากนั้นหลายปี ก็มีฝรั่งเนทีฟ นำเสนอเรื่องนี้อย่างบังเอิญทั้งในเวที Ted Talk และเนทีฟที่สอนเรื่องการออกเสียงผ่าน youtube channel ของตัวเอง นั่นก็เป็นการตอกย้ำความมั่นใจว่าแนวทางนี้คือแนวทางที่ยอมรับในระดับสากล

พ่อแม่ที่เพิ่งเข้ามาหรือยังลังเลอยู่กับแนวคิดเด็กสองภาษา ผมอยากให้ฟังสองคลิปด้านล่างนี้อย่างละเอียดครับ


ทำไมการท่องศัพท์ถึงจะเป็นผลเสียต่อเด็กในระยะยาว?

การเรียนภาษาอังกฤษในบ้านเรา ในโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่ต้องพบเจอตั้งแต่เรายังเป็นเด็กจนถึงปัจจุบันก็ยังทำอยู่ นั่นก็คือการให้เด็กไปท่องศัพท์วันละห้าคำสิบคำ และก็มีการสอบเก็บคะแนนอีกด้วย

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า การทำแบบนี้มันจะส่งผลเสียในระยะยาวกับเด็ก และเกิดสภาวะเป็นพิษต่อความเข้าใจ เป็นพิษต่อความรู้สึกในการพูด ถ้าคุณครูได้อ่านอยู่ คุณครูอย่าทำแบบนั้นเลยนะครับ