น้องข้าวแพง

เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้จริงๆ เด็กสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดีใจที่ได้พบแนวคิดนี้และไม่ปล่อยเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับลูกผ่านพ้นไป สำคัญที่สุด พ่อแม่จะต้องมุ่งมั่น อดทน มีความพยายามและก้าวผ่านความอายที่จะพูดภาษาอังกฤษต่อหน้าคนอื่น ลูกเราต้องไม่เป็นแบบเด็กไทยรุ่นเก่า ที่ทำข้อสอบได้คะแนนดีแต่พูดอังกฤษไม่ได้ ขอบคุณคุณบิ๊กสำหรับแนวคิดดีๆและครอบครัวสองภาษาสำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอมา

ผมมีโอกาสไปจัดเวิร์กช็อปเด็กสองภาษาที่ตรัง ปี 2010 จัดที่จังหวัดเล็กๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่ามีครอบครัวที่สนใจมาฟังเยอะจนเต็มห้อง และหนึ่งในครอบครัวที่มา ก็คือครอบครัวน้องข้าวแพง มากันทั้งครอบครัวรวมถึงอุ้มน้องข้าวแพงมาด้วย ตัวยังเล็กๆอยู่เลย

หลังจากคุณแม่ได้สอนลูกเป็นเด็กสองภาษาอยู่พักหนึ่ง แต่น้องต่อต้าน ไม่ยอม ขนาดที่เรียกว่าถ้าพูดอังกฤษจะดิ้นลงพื้นเลย จนทำเอาแม่ท้อ และจะเลิกสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาเลยทีเดียว แต่เหมือนน้องจะแกล้งคุณแม่ เพราะวันที่จะเลิกสอนนั้น ปรากฏว่าน้องได้พูดอังกฤษออกมาเฉยเลย และตั้งแต่วันนั้นมา คุณแม่ก็ฮึดสู้อีกครั้ง และได้สอนน้องจนกลายเป็นเด็กสองภาษาที่น่ารักจนถึงทุกวันนี้ครับ ยินดีด้วยครับ





ครอบครัวน้องข้าวแพง
ชื่อพ่อ: กฤษณะ หัวเขา
ชื่อแม่: สุพรรณี รัตนกานตะดิลก (ขวัญ-คนให้สัมภาษณ์)
ชื่อลูก: น้องข้าวแพง ด.ญ อันน์นีร หัวเขา (อายุ 5 ขวบ 6 เดือน)
อาศัยอยู่จังหวัดใด: จ.ตรัง

รู้จักแนวคิดเด็กสองภาษาได้อย่างไร แล้วทำไมถึงสนใจแนวคิดนี้?
ได้ดูคุณบิ๊กออกรายการในทีวีตอนเด็กสองภาษา ยอมรับว่าทึ่งในความสามารถของน้องเพ่ยเพ่ยมากๆ เลยไปหาหนังสือมาอ่านดู สนใจแนวคิดนี้เพราะคิดว่าเป็นแนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถทำได้จริง เราพอจะทำได้ เป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์กับลูกมากๆในอนาคต เพราะภาษาอังกฤษสำคัญจริงๆ

ระบบที่เลือกใช้ฝึกแล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้?
ใช้ทั้ง 2 แบบเลยค่ะ เพราะสอนตอนน้องข้าวแพง 2 ขวบ ช่วงแรกเป็นหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา เพราะลูกจะไม่ต่อต้านมาก ทำจนเป็นกิจวัตร ค่อยๆเพิ่มความถี่ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นหนึ่งคนหนึ่งภาษา

เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร?
มาเริ่มจริงๆจังๆกับข้าวแพงตอนอายุ 2 ขวบ ตอนนั้นสามารถพูดไทยได้คล่องแล้ว กรณีของข้าวแพงเป็นกรณีที่ไม่ได้สอนตั้งแต่เล็กๆ หลังจากอ่านหนังสือคุณบิ๊กแล้วก็เริ่มปฏิบัติการค่ะ ใส่อังกฤษกับลูกเลย ปรากฏว่าลูกต่อต้านมากๆ โกรธแม่ ไม่ยอมพูดด้วย ปิดหูเดินหนี ท้อใจมากๆ เคยชวนเพื่อนที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันเลิกด้วย เพราะรู้สึกว่ามันทำไม่ได้

ความสัมพันธ์กับลูกก็แย่ลง เป็นอย่างนี้มาประมาณ 6 เดือนค่ะ จนคุณบิ๊กมาจัดเวิร์กช็อปที่ตรัง หนึ่งวันที่เข้าไปอบรม มันเป็นจุดเปลี่ยน เรารู้จุดผิดพลาดของตัวเอง รู้จักเทคนิคการสอนลูก มีกำลังใจเพิ่มพูน กลับไปฮึดเริ่มสอนใหม่ค่ะ เริ่มตั้งแต่คำศัพท์กันก่อน เป็นคำๆ ช้าๆชัดๆออกเสียงให้ถูกต้อง แล้วค่อยๆเพิ่มเป็นวลี แล้วต่อด้วยประโยคสั้นๆ หาแรงจูงใจให้ลูกเล่น ข้าวแพงเริ่มจากสมุดสติ๊กเกอร์ศัพท์ภาษาอังกฤษ ความล้มเหลวใน 6 เดือนแรกคงเป็นเพราะแม่เปลี่ยนโหมดตัวเองเลยเป็นภาษาอังกฤษทันที เด็กที่โตแล้วจะต่อต้านมากๆ ช่วง 3 เดือนแรก หลังจากเวิร์กช็อปแล้วอาการต่อต้านยังมีอยู่บ้าง แต่แม่พยายามเปลี่ยนให้เวลาสำหรับภาษาอังกฤษเป็นเวลาที่สนุก ยอมพูดบ้างเป็นคำๆ ซึ่งทำให้กำลังใจแม่ขึ้นมากๆ จำได้ว่าใช้เวลาเกือบ 11 เดือนถึงจะมีวีดีโอไปอวดคุณบิ๊ก พอเครื่องเริ่มติด อะไรๆก็จะไวมากๆ สำคัญว่าแม่ต้องไม่ท้อไปเสียก่อน

ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ?
ประมาณ 1 ปี ค่ะ ถึงจะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจน โต้ตอบอย่างเป็นธรรมชาติ

ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก?
ระดับปานกลางค่ะ ความมั่นใจกลางๆ อายบ้างในช่วงแรก ต้องยอมรับว่า ต้องค้นคว้าหาความรู้ใหม่เยอะมาก ฟังมากขึ้น เริ่มต้องอิงตำรา และศึกษามากๆ เพราะอยากสอนสิ่งที่ถูกกับลูก

เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษได้รู้สึกอย่างไร?
ภูมิใจมากๆ มันเกิดวินาทีนี้ขึ้นได้เพราะเราล้วนๆ มันคือความพยายาม ความอดทน และมุ่งมั่นจริงๆค่ะ

อยากให้เล่าประสบการณ์ดีๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่สอนลูกเป็นเด็กสองภาษา?
ช่วงที่ท้อใจ (ซึ่งจะเกิดขึ้นหลายช่วงค่ะ) กำลังใจได้จากเว็บครอบครัวสองภาษา และเพื่อนๆในกลุ่มเด็กสองภาษาตรัง มีทั้งกำลังใจ คำแนะนำที่ดีมากๆ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เหมือนเรามีเพื่อนต่อสู้ไปด้วยกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน อบอุ่นมากๆ นอกจากได้ลูกที่พูดภาษาอังกฤษ แม่ยังได้กัลยาณมิตรด้วยค่ะ

คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่นในการสอนสองภาษา?
ขอเป็นตัวแทนสำหรับเด็กโต ที่พูดภาษาไทยไปแล้ว ต้องยอมรับนะคะว่ามันยากกว่าสอนตั้งแต่เล็กๆ พอดีได้กำลังใจจากการอ่านประสบการณ์ของหลายๆครอบครัวที่มีลูกโตแล้ว เขาทำได้ เลยเป็นแรงสู้ให้ตัวเอง พ่อแม่คงต้องใช้พลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงมากเป็นพิเศษ และใช้เวลา บางครั้งเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไม แม่ที่พูดไทยอยู่ดีๆ เปลี่ยนกลายเป็นพูดอังกฤษ และบังคับให้เขาพูดด้วย ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจและบางครั้งต้องให้เห็นบรรยากาศจริงๆและความจำเป็นของการพูดภาษาอังกฤษ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ลูก พ่อแม่ต้องเอาลูกเป็นที่ตั้ง ไม่เร่งรัดด้วยเวลาว่า 3 เดือน 6 เดือนต้องพูด ขอให้เวลาที่พูดภาษาอังกฤษเป็นเวลาที่มีความสุขด้วยกันทั้งครอบครัว แล้วลูกจะมีความประทับใจและมีความรู้สึกที่ดีกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ


บล็อกบันทึกเรื่องราวครอบครัวเด็กสองภาษา