ทำไมการสอนเด็กสองภาษาต้องอาศัยแนวคิด?

บ่อยครั้งเวลาที่ผมบรรยายเรื่องแนวคิดเด็กสองภาษาไม่ว่าจะเป็นเวทีเล็ก เวทีใหญ่ หรือให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไปจนถึงรายการทีวี ก็มักจะมีคำถามยอดฮิตประมาณว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดีและขอหลักแบบง่ายๆในการสอน เมื่อตั้งต้นคำถามมาแบบนี้ ผมก็ตอบไปทุกครั้งว่าเคล็ดลับการสร้างลูกเป็นเด็กสองภาษานั้นมีแค่สองเรื่อง นั่นก็คือหนึ่ง..พ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจแนวคิดเด็กสองภาษาอย่างลึกซึ้ง อย่าสอนโดยไม่มีหลักอะไรจับยึด เพราะนั่นอาจจะทำให้การสอนผิดทาง พ่อแม่อาจจะไม่สามารถส่งเด็กเป็นเด็กสองภาษาได้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทิ้งช่วงเวลาทองคำไป สอง..พ่อแม่จะต้องเข้าใจวิธีการดูแลเสียงของเด็กให้ได้ เพราะพ่อแม่ต้องเป็น “ต้นแบบ” และเป็น “โค้ช” ที่ช่วยดูแลการฝึกให้เป็นเด็กสองภาษาที่ออกเสียงได้อย่างมีคุณภาพ ถึงแม้พ่อแม่จะไม่เก่งอังกฤษก็ทำได้ เพียงแต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องเก่งก็คือ..เก่งการดูแลการฝึก สิ่งที่ผมตอบไปสั้นๆเพียงสองข้อ แต่จริงๆแล้วมันมีการเชื่อมต่อร้อยเรียงกันของแนวคิดทั้ง 9 ข้อ มีความลึก มีรายละเอียดในแต่ละข้อว่าเหตุใดถึงต้องทำแบบนั้น ทำไมถึงทำแบบนี้ ถ้าทำไม่ครบจะส่งผลอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากให้พ่อแม่ที่กำลังสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้รับรู้อย่างลึกที่สุด

อ่านหนังสือแล้วทำไมต้องมีโค้ชดูแลอีก?

เปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับการเล่นกีฬา สามารถเล่นเองได้ แต่ถ้าต้องการเป็นนักกีฬาและเล่นให้เก่ง นักกีฬาเกือบทุกคนก็ต้องมีโค้ช เพื่อช่วยดู ช่วยประเมิน ปรับแก้ไขและออกแบบการฝึกให้

พ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้อย่างไร?

พ่อแม่ฝึกและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก งานของพ่อแม่ที่แท้จริงคือเป็นต้นแบบและเป็นโค้ชให้กับเด็ก การเริ่มพูดเสียงที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น คำ วลี ประโยค หลีกเลี่ยงการประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ถ้าไม่มั่นใจ ค่อยๆฝึกทีละขั้น มีแนวคิดที่แข็งแกร่งนำทางครับ

เด็กสองภาษาคืออะไร แล้วทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้นในสังคมไทย?

ช่วงนี้ได้ยิน ได้เห็นพ่อแม่พูดภาษาอังกฤษกับเด็กจนชินตา และได้รับรู้เรื่องราวของการสร้างเด็กสองภาษาอยู่บ่อยครั้ง เด็กสองภาษาคืออะไร แล้วทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้นในสังคมไทย? การอธิบายเรื่องนี้ผมต้องขอย้อนเวลาไปในปี 2009 ในปีนั้นผมได้เขียนหนังสือออกมาหนึ่งเล่มชื่อว่า “เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้” หนังสือเล่มนี้เป็นการเสนอแนวคิดใหม่ในการสอนภาษาอังกฤษกับเด็ก โดยฝึกให้เด็กพูดภาษาอังกฤษจากความรู้สึกอย่างเป็นธรรมชาติ และคนที่สอนก็คือพ่อแม่ของเด็กซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเก่งภาษาอังกฤษแต่อย่างไร! เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มาจากประสบการณ์ของผมเองในการสอนลูกให้พูดภาษาอังกฤษจากความรู้สึก ผมได้เล่าประสบการณ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากลูกตัวเล็กๆจนสามารถพูดภาษาอังกฤษออกมาได้ตั้งแต่สามขวบ พร้อมกับสรุปหลักในการสอนออกมาเป็นข้อๆ หลังจากหนังสือวางตลาดไม่นานนัก ปรากฏว่ามีพ่อแม่จำนวนมากสนใจแนวคิดนี้ รวมทั้งสื่อต่างๆก็มาทำข่าว เขียนบทความและถ่ายสารคดีเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายการตาสว่าง ชีพจรโลก หรือครอบครัวเดียวกัน จากจุดนี้เองทำให้แนวคิดนี้เผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างในสังคมไทย ตั้งแต่นั้นมาก็มีพ่อแม่เริ่มสอนลูกพูดภาษาอังกฤษตามแนวคิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และมาสมัครเป็นสมาชิกเว็บสองภาษาดอทคอม (2pasa.com) เพื่อเล่าประสบการณ์ โพสคลิปพัฒนาการพูดภาษาอังกฤษของลูกนับร้อยนับพันคลิป และมีการพูดปากต่อปากต่อๆกันมา..จนคำว่า “เด็กสองภาษา” กลายเป็นคำฮิต ในการสอนลูกพูดภาษาอังกฤษไปในที่สุดครับ

1 5 6 7