เด็กสองภาษาและเด็กภาษาสองชั้น

เด็กสองภาษาและเด็กภาษาสองชั้นคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร และเป้าหมายของเราในการสอนลูกเพื่อเป็นเด็กสองภาษา ต้องเริ่มตรงไหน?

หลายปีที่แล้ว ในงานเลี้ยงวันเกิด หลานผมคนหนึ่งอายุเจ็ดขวบสามารถพูดอวยพรวันเกิดอาม่าเป็นภาษาจีนกลางได้ยาวกว่าห้านาที สิ่งนี้ทำให้ผมถึงกับอึ้งว่า โห…เก่งจริงๆ พูดจีนกลางได้น้ำไหลไฟดับ พอเวลาผ่านไปสักพักใหญ่ เมื่อมีโอกาสก็ได้ถามถึงภาษาจีนที่หลานผมคนนี้ได้พูดตอนอวยพรวันเกิด หลานตอบผมว่าลืมไปหมดแล้ว ตอนนั้นท่องมา….. ผมอึ้งอีกครั้ง เมื่อได้ยินคำตอบแบบนี้ พร้อมกับอุทานออกมา

“…..โอ้ เวรกรรม ครูให้ท่องหรือนี่”

การท่องอะไรมาพูดสักห้านาที ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะทำได้ มิต้องไปพูดถึงการท่องเป็นภาษาที่สองว่ามันจะยากกว่าสักเท่าใด แต่ไม่น่าเชื่อว่าเด็กทำได้ดีตรงจุดนี้ ผมรู้สึกเสียดาย…..เสียดายที่ใช้ศักยภาพของเด็กไปในทางที่ไม่มีประโยชน์ การท่องไม่ได้สร้างความรู้สึกกับภาษา มันเป็นความทรงจำระยะสั้น เดินออกไปนอกบ้าน สะดุดหินหน่อยเดียวก็ลืมแล้ว

ถึงแม้ผมจะหงุดหงิดใจและไม่เห็นด้วยกับการท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยที่สุด ก็คือเรื่อง “การสอนภาษาที่สองพร้อมแปล” …A Ant มด…….. B Book หนังสือ……. Monday วันจันทร์……นี่คือบทท่องพร้อมแปลที่พบเห็นกันมากที่สุด
“การสอนแบบแปล” ผมอยากจะเรียกเด็กที่ถูกฝึกมาอย่างนี้ว่า “เด็กภาษาสองชั้น” คือชั้นแรก คิดเป็นภาษาไทย ชั้นที่สองคือภาษาอังกฤษ ในช่องว่างระหว่างชั้น จะมีกลไกบางอย่างที่คอยตรวจสอบเหตุผล ไวยากรณ์ และเรื่องอื่นร้อยแปด การพูดสื่อสารจะแปลไปแปลกลับ ….พูดอย่างไม่อาย ผมเองก็เป็นหนึ่งในผลผลิตนั้น จะเรียกว่า “เด็กภาษาสองชั้นรุ่นเก่า” ก็ว่าได้

ผมเติบโตมาจากเด็กภาษาสองชั้น ผมไม่เคยรู้สึกดีกับมันเลย เวลาพูดคุยจะรู้สึกคิดมาก กลัวผิดตลอดเวลา ผมมักจะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอ ทำไมเราไม่สื่อสารอย่างมั่นใจ เหมือนกับภาษาไทยเล่า เวลาพูดภาษาไทย ผมไม่เห็นต้องคิดถึงหลักภาษาไทยอะไรเลย แต่ผมก็ใช้ได้อย่างถูกต้อง ใครพูดผิดเราก็รู้ ……เพราะอะไร?

ผมใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่องนี้อยู่นาน กว่าจะสรุปออกมาสั้นๆว่า ก็เราพูดออกมาจาก “ความรู้สึกภายใน” นั่นเอง!

ถามต่อ…แล้วความรู้สึกภายในนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ผมทบทวนคำถาม และปะติดปะต่อความทรงจำ ภาพความคิดที่ฉายออกมาบอกผมว่า…ความรู้สึกนี้ถูกขัดเกลา ผ่านการใช้งานอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นความทรงจำระยะยาว และความทรงจำระยะยาวนี่เองที่สร้างความรู้สึกภายในกับภาษาถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เวลาใครพูดคำว่า “เปรี้ยวจี๊ด” แทนที่จะนึกถึงหลักภาษาไทยว่าอะไรขยายอะไร ผมกลับนึกถึง “ความรู้สึกตอนกินน้ำมะนาว” จนน้ำลายสอทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้

นี่คือความเชื่อของผม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน เพราะคนไทยทุกคนผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาทั้งสิ้น แต่เราอาจจะลืมนึกถึงมันไป…..แต่ไม่เป็นไร ผมอาสาจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสู่พื้นฐาน ย้อนไปสู่ความทรงจำเดิมอีกครั้งหนึ่ง

ผมเชื่อว่าการเรียนภาษาที่สองให้ดีนั้น การพูดควรจะออกมาจาก “ความรู้สึก” ไม่ใช่มาจากการท่องจำ หรือแบบแผน การพูดสิบครั้งจากความรู้สึกในเรื่องเดียวกัน อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความรู้สึกในแต่ละห้วงขณะ ก็แตกต่างกันไป น้ำเสียงแตกต่าง อารมณ์แตกต่าง การนึกถึงแตกต่าง แต่ถ้าพูดแบบท่องสิ พูดสิบครั้งก็เหมือนกันทั้งสิบครั้ง
How are you? I’m fine, thank you. And you?
นี่คือบทท่อง ที่ป้อนให้กับนักเรียนไทยทุกคนตลอดระยะเวลาห้าหกสิบปีที่ผ่านมา จนถูกนำสิ่งนี้ไปล้อเลียนการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย หรือแม้กระทั่งนำไปตั้งเป็นชื่อภาพยนต์ตลก
ถามว่า…แล้วเราจะสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดกับลูกอย่างไร ในการสอนภาษาที่สอง
คำตอบ…ความรู้สึกนี้ต้องมาจากการให้เด็กทำความเข้าใจสิ่งต่างๆทั้งหมดในโหมดภาษาที่สอง “โดยไม่แปล” ให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทำความเข้าใจ และทยอยบันทึกเข้าสู่ความทรงจำระยะยาว จากความถี่ในการพูด ผ่านขั้นตอนการขัดเกลาภาษาจากการใช้จริง ถ้าคุณสอนเด็กคำว่า “Walk” คุณควรจะพาเขา “เดิน” ให้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเด็กบันทึก… ภาพที่เขากำลังเดิน เสียงที่ได้ยินจากคุณ สัมผัสจากการก้าวเดิน ลมที่มาปะทะหน้า กลิ่นหอมโชยมาจากร้านขนมปังใกล้ๆ
….. อ่านถึงตรงนี้คุณอาจจะรู้สึกนึกถึงเรื่องราวเก่าๆของตัวเอง แต่ไม่ต้องแปลกใจเลย เพราะเราผ่านประสบการณ์นี้ในโหมดภาษาไทยกันทุกคน มันเป็นเรื่องธรรมชาติ และธรรมดาเหลือเกินของการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์
เด็กที่สามารถพูดสองภาษาได้จากความรู้สึกทั้งสองโหมด พูดไทยก็คิดและรู้สึกเป็นไทย พูดอังกฤษก็คิดและรู้สึกเป็นอังกฤษ ผมอยากจะเรียกเด็กเหล่านี้ว่า “เด็กสองภาษา”
และนี่คือจุดเริ่มต้นที่พ่อแม่ต้องเลือกระหว่าง การให้ลูกเป็น “เด็กสองภาษา” หรือ “เด็กภาษาสองชั้น” เพราะแนวคิดเริ่มแยกทางจากจุดนี้เป็นต้นไป ครับ ……
หากคุณยังตัดสินใจเลือกเดินบนแนวคิดเด็กสองภาษาอยู่ หลักแรกบนแนวคิดนี้ที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือเราต้อง “ไม่แปล”
ถ้าต้องการสอนคำว่าปลา ให้ชี้ไปที่ปลา แล้วบอกว่า Fish เพียงแค่นั้น ให้เด็กทำความเข้าใจเอง และสิ่งที่อยากจะแนะนำเพิ่มเติมก็คือ ภาษากายในการสื่อสาร พ่อแม่ควรจะใช้ภาษากาย รวมกับน้ำเสียง อารมณ์ในการสื่อสารด้วย เพี่อให้เด็กเข้าใจได้เร็วขึ้น เด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการตีความและบันทึกเรื่องราว
พ่อแม่หลายครอบครัวที่ได้ลองทำดู มีจำนวนไม่น้อยที่ยังกังวลเรื่องความเข้าใจของเด็ก กลัวเด็กไม่เข้าใจ ท้ายสุดก็อดไม่ได้ที่จะแปลให้ลูกฟัง ความใจอ่อนเรื่องนี้ทำให้เส้นทางเด็กสองภาษาจะวกกลับไปยังเส้นทางเด็กภาษาสองชั้น ซึ่งจะทำให้เด็กรอคอยการแปลตลอดเวลา
สิ่งที่ผมอยากจะย้ำในเรื่องนี้ต่อคำถาม “ถ้าไม่แปลแล้วเด็กจะไม่เข้าใจความหมาย” คำตอบ…เด็กไม่เข้าใจความหมาย ไม่ใช่ “สาระ” …..สาระคือทำอย่างไรให้เด็กแสดงความรู้สึกในโหมดภาษาที่สองต่างหาก คุณพูดคำว่า Fish เด็กนึกว่าหมาก็ชี้ไปที่หมา พูดอีกครั้งก็ยังชี้ที่หมา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ “ไม่ใช่” บอกลูกว่า “Fish ปลานะ ไม่ใช่หมา Fish ปลา ลูกเข้าใจหรือเปล่า”


แต่สิ่งที่ “ควรทำ” คือพาลูกไปดูที่ปลาใกล้ๆพร้อมกับชี้ให้ลูกดูแล้วพูดคำว่า Fish พยายามสร้างบรรยากาศให้สนุก ไม่ต้องหงุดหงิดเมื่อลูกไม่เข้าใจ ใช้ “ความถี่” เข้าแก้ไข ทำไปเรื่อยๆ อย่าลืมนะครับ…สาระคือให้ เขาแสดงความรู้สึกออกมาในโหมดภาษาที่สอง เช่นถ้าเด็กบอกว่า “Mommy, dog, dog.” คำตอบแบบนี้เด็กไม่เข้าใจคำเรียก แต่แสดงความรู้สึกในโหมดภาษาที่สอง…นั่นแหละคือ “สาระ”