น้องเรอิเลอา

ดีใจและภูมิใจมากๆค่ะที่เป็นหนึ่งในครอบครัวที่สามารถสร้างลูกให้เป็นเด็กสองภาษาแบบธรรมชาติ จากที่ได้ทดลองทำตามแนวคิดนี้มาปีกว่า ทำให้รู้ว่าถึงแม้ว่าพ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ก็สามารถสอนลูกให้เป็นเด็กสองภาษาได้ ก็ต้องขอบคุณคุณบิ๊กที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ขึ้นมา ขอบคุณเว็บ 2 ภาษา รวมถึงหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ หนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง อ่านแล้วอยากที่จะทดลองใช้กับลูกเร็วๆ และสามารถหยิบมาอ่านซ้ำๆได้โดยไม่รู้เบื่อ

ควาามในใจแม่เล็ก

ครอบครัว: วิรัชศิลป์
สัมภาษณ์: ทพญ. วิมลรัตน์ วิรัชศิลป์
เด็ก: แฝด เรอิ-เลอา
อาศัยอยู่จังหวัด: ชุมพร

ก่อนหน้านี้สอนภาษาอังกฤษแบบใด
ยังไม่ทันได้เริ่มสอนภาษาอังกฤษค่ะ รู้จักแนวคิดสองภาษาตอนน้องอายุยังไม่ถึงขวบครึ่ง

เริ่มฝึกตามแนวคิดเด็กสองภาษา ตอนเด็กอายุเท่าไร แล้วทำไมถึงเปลี่ยนมาสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษา
ตอนอายุหนึ่งขวบหกเดือน หลังจากได้เห็นพี่บิ๊กและน้องเพ่ยเพ่ยในทีวี และได้อ่านหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้เล่มแรก อยากทดลองดูว่าตัวเองจะทำได้หรือไม่ และหลังจากสอนไม่ถึงอาทิตย์ ผลการตอบสนองของลูกดีมาก เขาสามารถเข้าใจศัพท์และสิ่งที่เราถามได้ถึงแม้ว่าจะยังพูดไม่ได้ ตอนที่เริ่มสอน เพิ่งพูดไทยได้เป็นคำๆ

ระบบที่เลือกใช้
เลือกใช้ระบบหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา จริงๆก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเวลาซะทีเดียว ค่ะ คือเป็นแบบประโยคไหนที่เรารู้ ก็จะพูดอังกฤษ แต่ถ้าไม่รู้ก็พูดไทย ไม่ได้กำหนดเป็นเวลา และเนื่องจากไม่เก่งภาษาอังกฤษ ก็เลยอาศัยญาติๆ (ปู่ ย่า ลุง ป้า น้า อา) ช่วยๆกันพูดอังกฤษกับเรอิ-เลอาด้วยเวลาที่มาเจอกัน ทำให้เด็กๆรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะพูดได้สองภาษา ทำให้เขาไม่ต่อต้าน

แล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้
เพราะคิดว่าเหมาะกับเรา เนื่องจากไม่เก่งภาษาอังกฤษ และมีเวลา (รวมถึงความขยัน) น้อยที่จะไปศึกษาเพิ่มเติม ทำให้ยังไม่สามารถใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งภาษาได้ เคยเครียดอยู่เหมือนกัน เพราะอยากให้ลูกพูดได้เร็วๆ เลยอยากใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งภาษา แต่สุดท้ายก็รู้ว่ามันไม่เหมาะกับเรา ก็เลยไม่อยากกดดันตัวเอง และอีกอย่าง คือ คิดว่าความเป็นแม่ทำให้ต้องใช้ภาษาในการสื่อสารกับลูกเยอะ อย่างเรื่องการสอนวินัยหรือมารยาท บางครั้งการใช้ภาษาที่เราถนัด จะทำให้ลูกเข้าใจได้มากกว่า แต่หากเราสามารถพัฒนาการใช้ภาษาของเราได้ดีขึ้น ก็อาจจะมีการปรับการใช้ภาษาอังกฤษกับลูกมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในสถานการณ์ไหนด้วย

เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
เริ่มต้นโดยพูดภาษาอังกฤษกับลูกเลยในประโยคที่เราพูดได้ และจะเน้นเรื่องคำศัพท์สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว แรกๆเริ่มสอนศัพท์เกี่ยวกับร่างกายก่อน และให้ดูดีวีดีประกอบ
อุปสรรคที่เจอ คือ บางทีนึกคำศัพท์ไม่ออก โดยเฉพาะคำศัพท์ง่ายๆที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วงแรกๆเลยต้องหาความรู้เกี่ยวกับศัพท์และประโยคที่คิดว่าเราต้องใช้กับลูกมาอ่านเพิ่มเติม และก็ได้หนังสือเด็กสองภาษาเล่มแรกที่เป็นเหมือนคู่มือคู่กาย ที่ต้องหมั่นหยิบมาอ่านและท่องคำศัพท์ให้ขึ้นใจ รวมถึงห้องอังกฤษในเว็บสองภาษาด้วยที่เราสามารถหาความรู้ได้จากที่นั่น

ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ
ประมาณหกเดือนนับจากที่เริ่มสอน (ตอนประมาณ 1 ขวบ 11เดือน) เรอิ-เลอาสามารถพูดโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษเป็นวลีและประโยคสั้นๆได้ เริ่มมีการตั้งคำถาม เช่น What is this?

ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก
ปานกลาง อ่านเขียนพอได้ แต่ไม่ถนัดด้านการฟังและพูด ไม่ค่อยมีความมั่นใจเลย กลัวสอนลูกผิด สำเนียงก็ไม่ดี

เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาที่สองได้รู้สึกอย่างไร
ดีใจและภูมิใจมากถึงมากที่สุด รู้สึกว่าเราก็ทำได้ถึงแม้จะไม่เก่งอังกฤษ และเหมือนกับว่าเราได้ให้ของขวัญที่วิเศษกับลูก ทำให้ลูกไม่ต้องมีปมด้อยในด้านการใช้ภาษาเหมือนแม่ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงแค่ขั้นแรก แต่ก็คิดว่าลูกจะต้องเก่งขึ้นเรื่อยๆแน่ๆ

พัฒนาการในแต่ละช่วง
ช่วง 1 ขวบ 6 เดือน ถึง 1 ขวบ 10 เดือน เป็นช่วงสะสมคำศัพท์
1 ขวบ 10 เดือน ถึง 1 ขวบ 11 เดือน พูดเป็นวลีและประโยคสั้นๆ
2 ขวบ เริ่มเล่านิทาน (แบบแต่งเอง) เป็นภาษาอังกฤษ
2 ขวบ 2 เดือน ใช้ประโยคเก่งขึ้น และเริ่มถามคำถามมากขึ้น เช่น where, who
3 ขวบ พูดเป็นประโยคที่ซับซ้อนขึ้น แต่บางครั้งยังเรียบเรียงประโยคผิด และมีผสมคำไทยบ้าง ก็ยังต้องคอยพยุงการพูดให้อยู่

คิดอย่างไรกับการสอน A Ant มด ในโรงเรียน แล้วอยากฝากอะไรถึงโรงเรียนบ้าง
ค่อนข้างเห็นด้วยกับผู้ใหญ่บิ๊กที่ว่า การสอนอังกฤษคำไทยคำ(แบบแปล) จะทำให้เด็กเรียนรู้แบบสองภาษาสองชั้น มันไม่เป็นธรรมชาติ อยากให้โรงเรียนปรับปรุงแนวการสอนใหม่ เพราะจากที่เราเรียนมาแบบแปลก็ทำให้รู้แล้วว่ามันไม่ได้ผล น่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ และให้ทุกโรงเรียนสอนเป็นแบบแผนเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนอินเตอร์เท่านั้นถึงจะเก่งภาษาอังกฤษ

คนรอบข้างมองอย่างไร เมื่อเห็นเราพูดภาษาที่สองกับลูก แล้วเราทำอย่างไร
ส่วนใหญ่จะมองแบบชื่นชม และอยากให้ลูกหลานของเขาพูดได้แบบนี้บ้าง เลยแนะนำแนวการสอนตามแนวคิดของผู้ใหญ่บิ๊ก และแนะนำให้รู้จักหมู่บ้านสองภาษา

คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่น
อยากแนะนำถึงพ่อแม่ที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ (สำหรับพ่อแม่ที่เก่งอังกฤษอยู่แล้ว คงจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร) อย่าเพิ่งท้อ และคิดว่าจะทำไม่ได้ อยากให้พยายามทดลองสอนดู ไม่ต้องรีบเร่งเพราะเราไม่ได้ไปแข่งกับใคร อย่าไปเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น เพราะแต่ละครอบครัวมีจุดต่างกันอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ อย่าไปเร่งเด็ก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกกดดัน พยายามทำให้การสอนเป็นเรื่องสนุก สอนแบบไม่ได้สอน ทำให้เป็นธรรมชาติ แล้วเด็กจะมีความสุขกับการใช้สองภาษา และพ่อแม่เองก็ไม่ต้องเครียดด้วย

บทวิเคราะห์โดยผู้ใหญ่บิ๊ก
คุณแม่น้องเรอิเรอาเป็นหนึ่งในคุณแม่ที่มีความมุ่งมั่นทั้งที่มีเวลาน้อย เพราะต้องทำงานประจำ และเลี้ยงลูกแฝดสองคน ลำพังแค่เลี้ยงลูกอย่างเดียวก็วุ่นวายพอดูอยู่แล้ว การสอนลูกแฝดนั้นยาก แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่งพี่น้องก็จะพูดกันเอง ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มความถี่ในการพูดเป็นอย่างดี ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณแม่เล็ก แม่น้องเรอิ-เลอาบ่อยครั้ง ก็รู้สึกชื่นชมความขยันในการหาความรู้เพื่อนำมาสอนลูก ความอดทนในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ น้องทั้งสองก็ยังเล็กอยู่ ขอเป็นกำลังใจให้สอนสองภาษาต่อไปครับ




บล็อกบันทึกเรื่องราวครอบครัวเด็กสองภาษา