น้องภัทร

ในช่วงแรกของการเดินทางสร้างเด็กสองภาษา มีบ้างที่รู้สึกกดดัน รู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อ เพราะสิ่งที่เราทำ เราตั้งใจไม่ได้เห็นผลในทันที สิ่งที่ใช้เตือนตัวเองไว้เสมอคือ จริงจังแต่ไม่เครียด มีกลุ่มเพื่อนสองภาษาแต่ไม่เปรียบเทียบ เข้มบ้างอ่อนบ้างแต่ไม่เลิก ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัว เด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ เด็กสองภาษาเริ่มได้ที่บ้าน พ่อแม่ลูกเดินทางเรียนรู้ไปด้วยกัน ไปช้าบ้างเร็วบ้างไม่เป็นไร สู้ๆทุกครอบครัวค่ะ

ความในใจแม่เจี๊ยบ


ครอบครัวน้องภัทร
ศรัณย์ วงศ์จรูญโรจน์ (พ่อหนุ่ย)
ประวีณา โสภาพรอมร (แม่เจี๊ยบ)
ชื่อจริง : ด.ญ.ณภัทร วงศ์จรูญโรจน์
ชื่อเล่น : น้องภัทร อายุ : 6.5 ปี (ขณะนั้น)
จังหวัดพิษณุโลก

เคยเห็นพ่อแม่คนไทย พูดภาษาอังกฤษกับลูกมั้ย คุณรู้สึกอย่างไร?
เคยเห็นค่ะ ครั้งแรกที่ได้ยินรู้สึกแปลกใจมาก คิดสงสัยว่าน้องคงเป็นเด็กต่างชาติ หรือเป็นลูกครึ่ง แต่พอทราบว่าพ่อแม่น้องเป็นคนไทยก็สงสัยว่าทำไมต้องพูดภาษาอังกฤษกับลูกด้วย

รู้จักแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ได้อย่างไร แล้วทำไมถึงสนใจแนวคิดนี้
เพื่อนแนะนำค่ะ แม่เนติ์ แม่น้องไออุ่น ประธานกลุ่มเด็กสองภาษาพิษณุโลก เป็นคนแนะนำค่ะ รอบแรกที่แม่เนติ์ชวนไปเวิร์คช็อปเด็กสองภาษา ตอนนั้นยังไม่สนใจ ด้วยเหตุผลของตัวเองว่าลูกเพิ่งเข้าโรงเรียน ที่โรงเรียนก็มีสอนภาษาอังกฤษ คุณครูก็คนต่างชาติ เกิดพูดผิดๆไปจะทำยังไง ผ่านไปประมาณครึ่งปี เพื่อนๆมีการรวมกลุ่มเด็กสองภาษาพิษณุโลกขึ้น และมีโอกาสได้เข้าร่วมในการจัดกิจกรรมครั้งแรก ได้รู้จักหนังสือเด็กสองภาษาตอนนั้นเอง ระหว่างนั้นก็หาหนังสือเด็กสองภาษามาอ่าน และก็พบว่ามีหลายๆครอบครัวที่ทำได้จริงๆ การเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนไม่ใช่คำตอบเดียวของการเรียนรู้ ตอนนั้นเองที่เริ่มเปลี่ยนมุมมองค่ะ

ระบบที่ใช้ฝึกแล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้
ใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งภาษา เพราะต้องการความถี่ค่ะ อยากให้เค้าคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ที่บ้านยังมีคุณพ่อ คุณย่าที่พูดภาษาไทยด้วยอยู่แล้ว เลยไม่กังวลว่าลูกจะไม่ได้เรียนรู้ภาษาไทยค่ะ

เริ่มต้นอย่างไร เจออุปสรรคอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร
เริ่มต้นจากคำศัพท์ค่ะ เอาคำศัพท์ที่เค้ารู้อยู่แล้วมาใช้ในชีวิตประจำวัน ค่อยๆต่อยอดเป็นประโยคสั้นๆ เป็นคำถามง่ายๆ อุปสรรคที่เจอมีหลายอย่างค่ะ อย่างแรกเลย คือตัวคุณแม่เอง บางคำศัพท์ที่เราคิดว่ารู้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยเช็คเสียง พอจะพูดกับลูก พบว่ามีอีกหลายๆคำที่เราออกเสียงผิด ก็เริ่มท้อว่า เราจะทำได้มั้ย อย่างที่สองคือ มาพูดภาษาอังกฤษกับน้องในตอนที่เค้าโตแล้ว เค้าใช้ภาษาไทยได้คล่องแล้ว (ประมาณ สามขวบกว่าๆ) เค้าก็จะเลือกตอบภาษาไทยมากกว่า

อุปสรรคสุดท้ายคือ เรื่องคนรอบข้างค่ะ ช่วงแรกๆจะรู้สึกอายที่จะพูดภาษาอังกฤษกับน้องต่อหน้าคนอื่น กลัวเค้าว่าสำเนียงแม่ไม่ดี กลัวพูดผิดๆถูกๆ กลัวเค้าจะว่าทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น แต่อุปสรรคทั้งหมดนี้ เราก็ผ่านมาได้ค่ะ เราพยายามมากขึ้น คำศัพท์ไหนที่ยังไม่แน่ใจก็ต้องเช็คเสียงทุกครั้ง ประโยคไหนที่ไม่รู้จะพูดยังไงก็ต้องทำการบ้านมาก่อน พอเรามั่นใจมากขึ้น เราก็กล้าที่จะพูดมากขึ้นค่ะ ในส่วนปัญหาของน้อง คุณแม่ใช้วิธีเพิ่มความถี่ในการพูด ทำเรื่องภาษาอังกฤษให้เป็นเรื่องสนุก ฟังเพลง เล่านิทาน ที่สำคัญคือ พาน้องเข้ากลุ่มเด็กสองภาษาค่ะ น้องได้ไปเห็นว่าเพื่อนๆใช้ภาษาอังกฤษกันเป็นเรื่องปกติ น้องอยากเล่นกับเพื่อน น้องก็พยายามพูด บางทีก็พูดตามเพื่อนค่ะ

ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้กลับเป็นภาษาอังกฤษใช้เวลานานแค่ไหน (อยู่ในโหมด) และเสี้ยวเวลาที่ลูกพูดตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษรู้สึกอย่างไร
ใช้เวลาประมาณสี่ถึงห้าเดือนค่ะ เสี้ยวเวลาที่น้องพูดตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษ รู้สึกดีใจมาก ว่าสิ่งที่เราลงแรงไป ไม่หายไปไหน

ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก
กลางๆค่ะ จะถนัดด้านการอ่าน และเขียนมากกว่า เรื่องพูดกับฟังนี่ไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ถนัดค่ะ ตอนแรกไม่มั่นใจเลยค่ะ คิดว่าภาษาอังกฤษเราไม่ดี จะสอนลูกได้ยังไง

ประสบการณ์ที่เจอเจ้าของภาษาเป็นอย่างไร?
เวลาเจอเจ้าของภาษาจะรู้สึกตื่นเต้นค่ะ ฟังไม่ทัน อาศัยแปลจากคีย์เวิร์ด เดาๆเอาว่าเขาน่าจะพูดแบบนี้นะ ถ้ารู้ตัวก่อน จะเตรียมประโยค เตรียมคำพูดไว้เลย แต่ถ้าหลุดจากเรื่องที่จะคุย จะฟังไม่ทันแล้ว ใช้ยิ้มอย่างเดียวค่ะ บางทีเค้าก็ฟังเราไม่ออก เราว่าเราก็พูดถูกไวยากรณ์แล้ว เพิ่งมาเข้าใจทีหลังว่า เราออกเสียงผิด คนฟังก็ฟังไม่รู้เรื่องค่ะ

เสียงตอบรับในการสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาของคนรอบข้าง ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อนฝูงไปจนถึงสังคมภายนอก
ที่บ้านเองสนับสนุนค่ะ พอน้องเข้าสู่โหมด ก็ตื่นเต้นกันว่าเราก็ทำได้ ส่วนคนรอบข้างก็จะออกแนวแซวๆในช่วงแรก บางคนก็ว่าจะรีบสอนไปไหน พอน้องพูดคล่องก็ชื่นชมค่ะ บางคนพอรู้ว่าเราพยายามฝึกอยู่ ก็พูดภาษาอังกฤษกับน้องด้วย เราดีใจมากที่เพื่อนๆเข้าใจ บางคนไม่รู้จักกันก็จะมาถามค่ะ ว่าน้องเรียนที่ไหน เป็นต่างชาติหรือเปล่า

รู้สึกท้อมั้ย อะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงที่ทำให้ไม่หยุดสอน และเดินหน้าต่อจนลูกเป็นเด็กสองภาษา
รู้สึกท้อเป็นบางครั้งค่ะ เคยเจอว่าเราสอนน้องผิดหลายอย่าง น้องเอาไปพูดกับคุณครูต่างชาติ แล้วคุณครูก็แก้ให้ เลยกลับมาคิดว่า เรากำลังทำในสิ่งที่ไม่ถนัดหรือเปล่า สิ่งที่เป็นกำลังใจให้คือ ลูกค่ะ เค้าดูมีความสุข ดูภูมิใจเวลาที่สามารถสื่อสารกับคุณครูได้ เจอคนต่างชาติก็อยากเข้าไปคุยด้วย อยากบอกเค้าว่าตัวเองก็พูดได้ ทำให้เราคิดได้ว่า ผิดไปก็แก้ได้ เราก็ต้องพยายามมากขึ้นค่ะ

นอกจากอ่านหนังสือเด็กสองภาษาแล้ว เคยเข้าเวิร์กช็อปหรือเปล่า หลังจากเข้าแล้วรู้สึกอย่างไร
เคยค่ะ เข้าทั้งเวิร์กช็อปเด็กสองภาษา และเวิร์กช๊อปโฟนิกส์
คุณแม่เข้าเวิร์กช๊อปหลังจากที่พยายามด้วยตนเองมาประมาณครึ่งปี เหมือนมีกำลังใจมากขึ่นค่ะ มีข้อสงสัยอะไรก็ซักถามได้ เข้าไปเจอเพื่อนๆที่มีแนวคิดเดียวกัน เจอปัญหามาเหมือนๆกัน รู้สึกมีเพื่อนร่วมเดินทางค่ะ

คำแนะนำให้กับพ่อแม่ที่กำลังคิดสอนลูกเป็นเด็กสองภาษา
อยากจะบอกทุกครอบครัวว่า ทุกคนทำได้ค่ะ เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้จริง ขอเพียงมีความพยายาม ความอดทน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ความรู้มากน้อยแค่ไหน เราทำได้ค่ะ เราเริ่มวันละนิด ค่อยๆขยายพื้นที่ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายเราจะได้เห็นผลผลิตที่เราลงทุน ลงแรงไป เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะคะ