สำหรับเด็กเล็กแล้ว ภาษาคือการสื่อสาร ถึงแม้จะเป็นเด็กไทย แต่ถ้าเราสื่อสารกับเค้าด้วยภาษาอังกฤษตั้งแต่แรกเกิด เค้าก็จะสื่อสารกับเราเป็นภาษาอังกฤษด้วยความเคยชิน โดยที่เค้าไม่มีกำแพงกั้นว่า เค้าเป็นคนไทย เค้าจะต้องพูดได้แค่ภาษาไทย
มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น ที่สร้างกำแพงขึ้นมาว่า เด็กไทยต้องพูดไทย หากจะพูดอังกฤษกับเด็กต้องแปลเป็นไทยให้เค้าฟัง (แม้ว่าเด็กคนนั้นเพิ่งจะหัดพูดก็ตาม)
เราเชื่อเสมอว่า เด็กเล็กๆเมื่อเขาเกิดมา เขายังไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นคนชาติไหน และต้องใช้ภาษาอะไรในการสื่อสาร ดังนั้นถ้าเราอยากสอนลูกแบบสองภาษา หรือหากพ่อแม่มีความสามารถที่จะคุยได้มากกว่าสองภาษา พูดกับลูกเถอะค่ะ มาสร้างเด็กสองภาษากัน เด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้จริงๆค่ะ
ครอบครัวน้องน้ำเหนือ / ทิวผา
พ่อแม่: อัศนี เอี่ยมทศ / ปิยวรรณ เอี่ยมทศ
ลูก: น้ำเหนือ เอี่ยมทศ 4 ขวบ / ทิวผา เอี่ยมทศ 2 ขวบ
จังหวัด:
เคยเห็นพ่อแม่คนไทย พูดภาษาอังกฤษกับลูกมั้ย คุณรู้สึกอย่างไร?
เคยเห็นค่ะ รู้สึกดีที่ครอบครัวไทยให้ความสำคัญกับการพูดภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากขึ้น และรู้สึกว่าครอบครัวสองภาษาเป็นเรื่องปกติ ที่แพร่หลายมากกว่าแต่ก่อน
รู้จักแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ได้อย่างไร แล้วรู้สึกอย่างไรกับแนวคิดนี้?
รู้จักจากหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้แล้วจึงตามมาดูในเว็บไซต์สองภาษาดอตคอม (www.2pasa.com) สนใจแนวคิดนี้เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาไม่รู้ว่าตัวเองเป็นชนชาติอะไร เราจะพูดภาษาไหนกับเขา เขาก็สามารถรับ สามารถสื่อสารกับเราได้
ระบบที่ใช้ฝึกตามแนวคิดเด็กสองภาษาแล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้?
ใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งภาษา เพราะคุณแม่พูดภาษาอังกฤษพอได้อยู่แล้ว แต่คุณพ่อพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
เริ่มต้นอย่างไร เจออุปสรรคอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร?
เริ่มต้นด้วยการสื่อสารไปเลย เหมือนพูดไทยปกติ ค่อยๆพูด ช้าๆ ชัดๆ ทีละคำ เริ่มเป็นวลี และประโยคตามแนวคิดเด็กสองภาษาของคุณบิ๊กเลยค่ะ
คือเริ่มตั้งแต่น้ำเหนือเกิดเขาเลยไม่รู้สึกแปลก เหมือนภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาหนึ่งที่แม่ใช้ในการสื่อสารกับเขา ส่วนน้องทิวผา ก็เริ่มตั้งแต่เกิด แต่ตอนทิวผาเกิดโชคดีที่ว่าพี่น้ำเหนือ 2 ขวบแล้ว พูดภาษาอังกฤษกับแม่แล้ว ตอนเริ่มกับน้องทิวผาเลยเป็นเหมือนชีวิตประจำวันไปเลย แม่ไม่ต้องมานั่งฮึด หาแรงบันดาลใจอีกรอบ
อุปสรรคช่วงแรกคือแม่ท้อ เพราะเริ่มตั้งแต่น้ำเหนือเกิด แล้วเหมือนเราพูดอยู่คนเดียว ลูกไม่ตอบอะไรกลับมาเลย แล้วภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาที่เราถนัด
เราเลยกลับมาพูดไทยสักกพัก จนฮึดอีกรอบเลยไปพูดอังกฤษกับลูก ตอนน้ำเหนือได้ราว 10 เดือน ตอนนั้นลูกฟังคำสั่งรู้เรื่อง เริ่มมีการโต้ตอบ แม่ก็สนุกมากขึ้น
อุปสรรคคือความเขินอายของตัวคุณแม่เอง ช่วงแรกๆที่คุยกับลูก เวลาออกนอกบ้านจะพูดเบาๆ กลัวคนอื่นจะได้ยิน กลัวคนอื่นจะมองว่าโอเว่อร์ ว่าทำไมเป็นคนไทยถึงต้องคุยภาษาอังกฤษกับลูก
ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้กลับเป็นภาษาอังกฤษใช้เวลานานแค่ไหน และเสี้ยวเวลาที่ลูกพูดตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษรู้สึกอย่างไร?
เรื่อยๆค่ะ เพราะพูดกับเขาตั้งแต่เล็ก คำแรกที่น้ำเหนือ ทิวผา พูดกับแม่ก็เป็นภาษาอังกฤษเลย แล้วเขาก็แบ่งได้เลยว่า หันหาแม่ต้องคุยภาษาอังกฤษ (โดยที่เด็กๆยังไม่รู้ว่านี่คือภาษาอังกฤษ แต่รู้ว่าต้องพูดแบบนี้) หันหาพ่อ ก็พูดภาษาไทย
เสี้ยวเวลาที่ลูกพูดตอบกลับภาษาอังกฤษ รู้สึกว่าปลาบปลื้มมาก ภูมิใจในตัวลูกและเรามาก ถึงแม้ว่าเราจะรู้อยู่แล้วว่ายังไงลูกก็ต้องพูดอังกฤษได้ (เพราะเราพูดกับลูกตลอด) แต่ ณ เวลานั้น ขณะที่ลูกเริ่มพูดเป็นประโยค มันรู้สึกดี ปลาบปลื้ม นี่คือผลที่เราเฝ้าทำมา 🙂
ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก?
ระดับภาษาอังกฤษของแม่ ดี ระดับภาษาอังกฤษของพ่อ ฟังไม่ออกเลย เจอฝรั่งจะเดินหนีทันที
มีความมั่นใจมากๆ ว่าเราต้องทำได้ เพราะคุณแม่อ่านหนังสือคุณบิ๊กตั้งแต่ท้อง เข้าเว็บ หาแรงบันดาลใจเยอะมาก มั่นใจมากว่าเราต้องทำตามเด็กสองภาษารุ่นพี่ได้แน่ๆ
นอกจากอ่านหนังสือเด็กสองภาษาแล้ว เคยเข้าเวิร์กช็อปหรือเปล่า หลังจากเข้าแล้วรู้สึกอย่างไร?
ไม่เคยค่ะ
รู้สึกท้อไหม อะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงที่ทำให้ไม่หยุดสอน และเดินหน้าต่อจนลูกเป็นเด็กสองภาษา?
ท้อค่ะ ท้อเป็นช่วงๆ เริ่มจากช่วงต้น คือช่วงลูกยังเล็ก พูดยังไม่ได้ มันเหมือนกับว่าเราบ้าพูดอยู่คนเดียว
ท้อต่อมา คือเราพูดอังกฤษกับลูกอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนร่วมทางที่ได้เจอกันเลย มีแต่เพื่อนร่วมทางที่คุยกันในโซเชียลเนตเวิร์ค บางทีก็หมดกำลังใจ อยากหาแรงใจบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็มีกลุ่มเด็กสองภาษาที่นัดกันบ่อยๆ ทำให้รู้สึกมีแรงฮึดขึ้นมากค่ะ
สิ่งหล่อเลี้ยงที่ทำให้เดินหน้าคือ อนาคตของลูก ทุกวันนี้มีครอบครัวสองภาษาเกิดขึ้นมากมาย การพูดภาษาอังกฤษได้ดูจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ถ้าลูกเราพูดได้แค่ภาษาไทย พอโตไป ลูกเราจะมีโอกาสไม่มากเท่าคนอื่นๆที่พูดภาษาอังกฤษได้
ประสบการณ์ที่เด็กเจอเจ้าของภาษาเป็นอย่างไร?
เคยพาน้ำเหนือกับทิวผาไปห้องสมุดเนลสันเฮ แล้วมีเด็กฝรั่งมาคุยด้วย น้องก็คุยด้วย ถึงจะเขินอาย (นิสัยส่วนตัว ลูกเขินมาก) แต่ก็สามารถสื่อสารได้เป็นปกติเลยค่ะ
เสียงตอบรับในการสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาของคนรอบข้าง?
ครอบครัว : เริ่มแรกที่คุณแม่เริ่มแนวคิดนี้ คุณตา คุณยาย เห็นด้วยอย่างมากเพราะคุณตาคุณยายเชื่อว่าเราสามารถสอนลูกให้พูดภาษาอังกฤษได้ ทางด้านคุณย่า คุณย่าจะมีความกังวลเล็กน้อยกลัวว่าหลานจะสับสน
แต่พอถึงวันนึงที่น้ำเหนือและทิวผาพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทุกคนในครอบครัวก็รู้สึกทึ่ง ชื่นชม และปลาบปลื้มมาก ไม่คิดว่าเด็กไทย พ่อแม่ไทย จะพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติขนาดนี้
เพื่อนฝูง และสังคมภายนอก : แรกเริ่ม เพื่อนบ้าน และคนที่ได้เห็นว่าเราคุยภาษาอังกฤษกับลูกก็มีถามว่า น้องจะพูดไทยได้ไหม เราต้องแปลให้น้องฟังหรือเปล่า ทำไมเราต้องคุยกับน้องเป็นภาษาอังกฤษด้วย
พอถึงวันนี้ที่คนรอบข้างได้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เราทำมา ทุกคนจะบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า น้องเก่งมาก พูดภาษาอังกฤษได้ด้วย
คำแนะนำให้กับพ่อแม่ที่กำลังคิดสอนลูกเป็นเด็กสองภาษา
ถ้าลูกของคุณพ่อคุณแม่ยังเล็ก เริ่มเถอะค่ะ เริ่มตั้งแต่ตอนเล็กๆ เด็กสอนง่ายมาก เด็กรับได้ทุกอย่าง อุปสรรคใหญ่อย่างเดียวคือตัวคุณพ่อคุณแม่เอง อย่าคิดว่าเราไม่เก่ง เราสอนลูกไม่ได้หรอก ถ้าคุณพ่อคุณแม่คิดแค่นั้นคือจบเลย ในกลุ่มเด็กสองภาษา พ่อแม่หลายคนเริ่มเรียนพร้อมลูกเยอะเลยค่ะ อย่าให้ความกลัวมาเป็นอุปสรรคในการไม่เริ่มต้น