ความตั้งใจทำให้แพทสอนลูกทั้งสองภาษา จนมาได้เจอบทสัมภาษณ์ของคุณบิ๊กในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในหลายปีก่อน จึงได้ติดตามเข้าไปในเว็บสองภาษา ทำให้ได้เห็นความตั้งใจ และความพยายามของคุณพ่อคุณแม่ที่จะสอนและพัฒนาลูกหลานของตัวเอง อยากฝากกำลังใจผ่านตัวหนังสือไปให้พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกคนที่มีความตั้งใจและความพยายามค่ะ แพทเชื่อว่า ถ้าเราไม่ท้อ ไม่ว่าอุปสรรคใดๆ เราฝ่าฟันผ่านไปได้เสมอ จากใจ ถึงใจ “การเริ่มต้นคือก้าวแรกที่ยากเสมอ แต่ความเพียรจะทำให้เราสำเร็จ อุปสรรคจะทำให้เราโตขึ้น”
ครอบครัวน้องนิว-ซี
ชื่อพ่อ: กฤษณะ ทุติยะโพธิ
ชื่อแม่: ปฏิญญา คุณกุลวรนันทน์ (แพท – คนให้สัมภาษณ์)
ชื่อลูก: กลอเรีย กฤตยา ทุติยะโพธิ 10 ปี (นิว)
เกเบรียล กฤษฎา ทุตยะโพธิ 8 ปี (ซี)
อาศัยอยู่ประเทศ: นิวซีแลนด์
ไปตั้งรกรากอยู่ในนิวซีแลนด์ได้อย่างไร?
ตัวเองมาศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษาที่นี่ จากนั้นก็ทำงาน แต่งงานมีครอบครัว มีบุตรธิดา 2 คน เกิดที่โรงพยาบาล Waikato
ใช้หลักการสอนและรักษาการพูดภาษาไทยให้ลูกอย่างไร ในสภาพแวดล้อมที่เป็นภาษาอังกฤษ?
เริ่มจากมีความตั้งใจว่าจะรักษาภาษาไทยไว้ ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กนอกที่พูดภาษาไทยไม่ได้ เริ่มจากการใช้ภาษาไทยกับลูกแต่แรกเกิด หาซื้อสื่อภาษาไทยจำพวกแผ่น ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก หนังสือ ก.ไก่ หนังสือนิทานไทย เพลงภาษาไทย การ์ตูนภาษาไทยและเน้นการสนทนาภาษไทยกับลูกตลอดเวลาในช่วง 2 ปีแรก
ช่วงการเข้าเรียนอนุบาลมีการลดระดับภาษาไทยลง เพิ่มภาษาอังกฤษเข้ามาในชีวิตประจำวันในบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียน การสื่อสารกับครูที่โรงเรียน มีการเข้าสังคมกับกลุ่มคนไทยในเมืองบ้าง เพื่อปลูกฝังภาษาไทย ความเป็นไทย การไหว้ สอนให้รู้จักสวัสดีคุณครูฝรั่งที่โรงเรียน อธิบายการทักทายแบบไทยๆให้คุณครูที่โรงเรียนได้ช่วยส่งเสริมและปลูกฝังให้ลูกที่โรงเรียนด้วย ส่งเสริมการติดต่อสื่อสารกับญาติๆทางเมืองไทยผ่าน Video conference เน้นว่าต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
พอเด็กๆเข้าเรียนแล้ว ได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างเต็มขั้นที่โรงเรียนแล้ว ก็เปลี่ยนกลับมาใช้ภาษาไทยกับแม่เกือบจะตลอดเวลาเหมือนเดิม
หลักที่สอนมีส่วนคล้ายกับแนวคิดเด็กสองภาษาบ้างหรือเปล่า?
หลักการสอนที่คิดว่ามีส่วนคล้ายกับแนวคิดเด็กสองภาษาคือ ใช้หลักการสอนโดยเน้นการพูด การสนทนาในชีวิตประจำวัน โดยไม่มุ่งเน้นเรื่องไวยากรณ์แบบวิชาการหรือเน้นสอนอ่านเขียน การสอนแรกเริ่มคือการที่แม่คุยกับลูก ป้อนคำศัพท์ผ่านประโยคและบทสนทนา อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จากนั้นใช้แผ่นสอนพยัญชนะ บัตรคำ พอลูกเริ่มพูดคุยโต้ตอบได้ ก็กระตุ้นสอนโดยการหาแรงบันดาลใจเช่นการพูดคุยกับญาติๆที่เมืองไทย หรือถ้าไม่พูดภาษาไทยกับแม่ แม่จะไม่ตอบ มีการส่งเสริม และช่วยเหลือการใช้คำและประโยคตอบกลับ ใช้หลักความถี่และสร้างเงื่อนไขให้คุยกับแม่เป็นภาษาไทย
ระบบที่เลือกใช้ฝึกแล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้?
แพทเลือกใช้ระบบ หนึ่งคนหนึ่งภาษาในตอนแรกเกิด จากนั้นลดไปใช้หนึงเวลาหนึ่งภาษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียน ส่วนคุณพ่อเขาถนัดที่จะสนทนากับลูกเป็นภาษาอังกฤษ เพราะติดมาจากที่ทำงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดเวลา แต่ก็จะมีการกระตุ้นจากแม่ในการบังคับให้ใช้ภาษาไทยบนโต๊ะอาหารบ้าง จากนั้นเราก็มักจะใช้หนึ่งเวลาหนึ่งภาษาค่ะ มีการกระตุ้นโดยการบอกให้ลูกปรับโหมดเป็นภาษาไทย
เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร และปัญหาที่ยากที่สุดในการสอนคืออะไร?
เริ่มต้นจากการพูดคุยกับลูกเป็นภาษาไทยที่บ้าน แต่เวลาออกไปสื่อสารกับคนข้างนอกเป็นภาษาอังกฤษ อุปสรรคที่เคยพบเจอจะเป็นการลดระดับความถี่ภาษาไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียนกับลูก เช่นเรื่องการสอนการบ้านที่เราต้องใช้ภาษาอังกฤษในการอธิบายมากกว่าภาษาไทย ซึ่งทำให้ความถี่ในการใช้ภาษาไทยลดน้อยลง
วิธีการแก้ปัญหาของแพทคือบังคับ ตั้งกฏเกณฑ์ในการพูดภาษาไทยกับแม่ในเรื่องอื่น แม้ว่าลูกจะเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟังก็จะบังคับให้ใช้ภาษาไทยในการเล่า อาจต้องมีการเสริมประโยคให้บ้าง ช่วยเรื่องคำศัพท์บ้าง ส่วนเรื่องการสนทนาบนโต๊ะอาหารก็ต้องขอความร่วมมือจากคุณพ่อให้ช่วยกันสื่อสารเป็นภาษาไทย ต้องคอยบังคับตัวเองและคนอื่นๆให้พูดภาษาไทย ที่ยากเพราะเรามีหลุด หลุดพูดคุยทักทายภาษาอังกฤษ
อีกอุปสรรคหนึ่งคือสองพี่น้องจะคุยกันภาษาอังกฤษตลอด ถึงแม้ว่าบางทีแม่จะมีการบังคับการใช้ภาษาไทย พี่นิวซึ่งภาษาไทยจะแข็งแรงกว่าน้องซีก็จะใช้วิธีเป็นล่ามแปลให้น้อง ยิ่งทำให้การใช้ภาษาไทยของน้องซีพัฒนาไปได้ช้ากว่าพี่นิว นอกจากนี้แพทยังส่งเสริมการใช้ภาษาไทยกับเด็กๆอีกทางโดยการพูดคุยกับญาติๆที่เมืองไทย โดยเด็กๆจะคิดว่าคุณตาคุณยายพูด สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็จะพยายามพูดคุยกันด้วยภาษาไทยมากกว่า
ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว?
ข้อนี้ตอบยากนิดนึง เพราะเราเห็นพัฒนาการของเขาในทุกๆด้านตลอดเวลาแต่ก็บอกได้ไม่เต็มที่ว่าเริ่มตอบกลับอย่างคล่องแคล่วได้เมื่อไหร่ แล้วเมื่อความถี่น้อยลง การโต้ตอบอย่างคล่องแคล่วก็ลดถอยลงเช่นกัน แต่เห็นได้ชัดว่าเวลาที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยในแต่ละครั้ง ครั้งละเดือนถึงสองเดือน เด็กๆจะมีพัฒนาการด้านภาษาไทยที่ดีขึ้นเร็วมาก ถึงแม้ว่าญาติหรือเพื่อนๆที่เมืองไทยอาจจะพยายามอยากคุยกับเด็กๆเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า จนทุกครั้งที่กลับมานิวซีแลนด์ คุณพ่อจะตกใจในการพูดคุยโต้ตอบเป็นภาษาไทยของเด็กๆ
ได้สอนการอ่านและเขียนไทยด้วยหรือเปล่า ยากง่ายอย่างไร?
แพทไม่ได้สอนการอ่านเป็นภาษาไทย นอกเหนือไปจากการท่อง ก.ไก่ถึง ฮ.นกฮูก แต่มีการกระตุ้นให้เด็กๆหัดเขียนชื่อนามสกุลตัวเองเป็นภาษาไทย ตั้งแต่ที่เด็กๆต้องไปทำบัตรประชาชน แล้วโดนเจ้าหน้าที่บังคับว่าเป็นเด็กไทยต้องเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาไทยเป็น คุณตาช่วยกระตุ้นบอกว่าคราวหน้ากลับมาถ้าเขียนชื่อ สกุลเป็นภาษาไทยได้จะมีรางวัลให้ (น้องนิวหัดเขียนชื่อเป็นภาษาไทย 1 หน้ากระดาษ แลกกับเวลาเล่นคอม 1 ชั่วโมง)
อยากให้เล่าประสบการณ์ดีๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่สอนลูกเป็นเด็กสองภาษา?
แพทรักความเป็นไทย ความเป็นคนไทยมากขึ้นเมื่อต้องมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เมื่อมีลูก ก็ไม่อยากให้ลูกลืมความเป็นไทยตรงนี้ แม้ว่าเราจะเลี้ยงดูให้เขาเติบโตแบบเด็กฝรั่งเช่นเดียวกัน แพทภูมิใจที่ลูกๆพูดภาษาไทยได้แม้จะเติบโตอยู่ต่างประเทศ และทุกครั้งที่เจอคนไทย หรือคนต่างชาติต่างภาษา เขาก็ภูมิใจที่เราสอนลูกให้พูดภาษาไทยได้เช่นกัน และเราไม่อายที่จะโชว์ความเป็นไทยของเราในต่างแดนนี้ แพทได้รับความสนับสนุนจากทั้งคุณครูของเด็กๆที่โรงเรียน เพื่อนร่วมงานที่มีแพทเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำงานที่นั้น เมื่อเราพร้อมที่จะปันความเป็นไทยของเรา เขาก็พร้อมที่จะรับและศึกษาความเป็นไทย การทักทายแบบไทยๆด้วยเช่นกัน แพทยินดีเมื่อพาเด็กๆกลับไปเยี่ยมบ้าน แล้วเจอเจ้าหน้าที่สนามบิน หรือคนอื่นๆกล่าวชื่นชมเด็กๆว่า แม้ว่าเด็กๆจะเกิดและเติบโตในต่างประเทศ แต่เขาพูดภาษาไทยได้ สื่อสารได้ ไม่ทิ้งความเป็นไทยตรงนี้ไป การชื่นชมต่อหน้าเด็กๆ เป็นการกระตุ้นให้เด็กๆมีความรัก ความตั้งใจที่จะพูดภาษาไทยต่อไปโดยไม่ต้องอายใคร ทุกครั้งที่มีโปรแกรมจะกลับมาเยี่ยมเมืองไทย เด็กๆจะกระตือรือล้นในการเรียนรู้ภาษาไทยยิ่งขึ้น
คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่นในการสอนสองภาษา?
บางครั้งเราก็รู้สึกท้อ ภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวันทำให้เราอยากจะปล่อยปละละเลยในการที่เราจะสอนลูกเราให้เป็นเด็กสองภาษาบ้าง เราต้องทำงานในชีวิตประจำวัน ต้องทำงานบ้าน ต้องเลี้ยงดูลูก ต้องเอาใจใส่ทุกคนในครอบครัว แล้วไหนจะต้องมาทำการบ้านเพิ่มเพื่อที่จะเตรียมไว้สอนลูกให้เป็นเด็กสองภาษา ความเหนื่อย ความล้าจากทุกๆอย่างในชีวิตประจำวัน ทำให้เราท้อ ไหนใครบอกว่าเด็กๆพอเริ่มโตขึ้น อะไร อะไรจะง่ายขึ้น…………………….. ไม่จริงเลย
บางทีเราไม่อยากที่จะรบกับลูก บังคับเขา แต่ แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีการละ อย่าไปยึดติดว่าเราจะต้องสื่อสารกับลูกเป็นภาษาอังกฤษทุกเรื่อง ถ้าทำได้ก็ดี แต่อย่าไปฝืนตัวเองจนเกินไป เพราะความถี่ในการใช้ภาษาสำคัญกว่าเรื่องที่พูด เรื่องที่สื่อสารมากนัก อย่าเอาความยากมาทำให้เราท้อ อย่ายึดติดกับคำศัพท์มากเกิน อธิบายด้วยภาษาง่ายๆ คำศัพท์ง่ายๆก็ได้ จนเมื่อเราพร้อมที่จะยกระดับภาษาของเราเอง เราค่อยใส่คำยากเข้าไป เพิ่มความยากของรูปแบบประโยคขึ้นไป แต่อย่าลืมว่า ในการพูดคุยในภาษาไทยเอง เรายังไม่ค่อยเอาคำศัพท์ยากๆม่ใช้ในชีวิตประจำวันเลย อย่ากดดันตัวเองค่ะ เพราะถ้าเราท้อที่จะทำ ความตั้งใจก็จะหายไป เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ค่อยๆพัฒนาไป เมื่อถึงเวลา เราก็รู้เองว่าควรจะปรับเปลี่ยนอะไรตรงไหน หาเหตุจูงใจให้ลูกให้ตัวเอง