ต่อข้อถามที่ว่า “กดดันลูกเกินไปละป่าว”

Posted by Jija on June 5, 2010 at 11:17am

ตั้งแต่เริ่มทำ OPOL มา จิ๊ว่า หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายต้องเจอ คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า

“กดดันลูกไปป่าวเนี่ย เด็กตัวแค่นี้ จะไปเอาอะไรมากมาย รอเข้าโรงเรียนก่อนก็ได้ จะรีบไปไหน” ใครเคยเจอคำถามนี้บ้าง ยกมือหน่อยค่า วันนี้จิ๊มีคำตอบค่ะ อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกคน แต่เป็นประสบการณ์ที่ทำให้จิ๊กล้าตอบกับตัวเองว่า “ไม่กดดันเด็กแน่นอน แถมยังทำให้เด็กผ่อนคลายอีกด้วย”

เป็นเรื่องของหลานสาวตัวน้อยอายุ 6 ขวบค่ะ น้องไม่ได้รับการสอนระบบสองภาษามาก่อน เรียนอนุบาลก็ภาคปกติค่ะ จนกระทั่งเมื่อ 1 ปีที่ผ่านที่จิ๊เริ่มระบบ OPOL กะน้องกันต์ ก็ได้ชวนคุณแม่น้องทำด้วยกัน แต่เนื่องจากหลานเริ่มโต ตอนนั้นก็ประมาณ 5 ขวบ จึงค่อนข้างต่อต้าน แม่เค้าจึงไม่ได้ซีเรียสมากคิดว่าเดี๋ยวเข้าโรงเรียนก็คงทำได้เอง

ผ่านมา 1 ปี วันที่รอคอยก็มาถึงค่ะ วันนี้หลานเข้า ป.1 แล้วค่ะ เรียนโปรแกรม EP สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลานเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ ก็กลายเป็นเด็กดื้อ การบ้านไม่ยอมทำ จนแม่เค้าเครียดมาก จิ๊เลยรับหน้าที่มาลองสอนแทน แค่1 ครั้งเท่านั้น จึงได้รับรู้สาเหตุที่ทำให้หลานดื้อ ไม่อยากทำการบ้าน ก้เพราะว่า ก็ภาษาอังกฤษมันยาก คือ ทุกอย่างเป็นอังกฤษหมด อย่างวิชาเลข ถ้าเราไม่เข้าใจโจทย์ก็จะทำไม่ได้ สมมติว่า

“หนูมีไข่ 1 ฟอง คุณแม่ให้มาอีก 2 ฟอง หนูจะมีไข่กี่ฟอง” แบบนี้ยังพออธิบายกันได้ใช่มั้ยคะ แต่ถ้าเด็กเจอตัวยึกยือ

” You have 1 egg and your mother gives you 2 more eggs, how many eggs will you have?”

คุณว่า เด็กจะเข้าใจอะไรมั้ยคะ อ่านก็ไม่ออก อ่านให้ฟังก็ไม่เข้าใจ แถมต้องมาตั้งโจทย์เพื่อแก้อีก

โจทย์อย่าง 3+5 = 8 ก็กลายเป็นเรื่องยาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทำคุมองทุกวัน บวกกัน รวดเร็ว เนื่องจาก คุณครูเค้าให้เขียนว่า

Three plus five equal eight. อืมม์ ตอนนี้ หลานเลยต้องมานั่งท่อง 1-20 เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมท่องศัพท์ โอ เอ็น อี วัน แปลว่า 1

แล้วจิ๊รู้สึกยังงัยตอนสอนหลาน ยอมรับว่า “เครียดค่ะ” คือ ตอนนี้น้องกันต์ลูกชายอายุ 1.10 เดือน เราสอนโฟนิค ก็ไม่เคยต้องมาพูดว่า ตัว เอ ออกเสียง แอะ เราแค่ร้องเพลงว่า The A said ae จบ เข้าใจในชั้นเดียว คราวนี้จะมาสอนหลาน ต้องทำ 2 ชั้น คือ แปลโจทย์เป็นไทย พอเค้าเข้าใจ เราก็กลับไปเป็นอังกฤษ ทบทวนสิ่งที่โจทย์บอก แต่ความรู้สึกของเด็กมันเหนื่อยนะ กะการต้องแปลแล้วมาคิด

แล้วอย่างตอนท่องศัพท์ เค้าสะกด five ไม่ได้ เราก็บอกว่า five เสียง เฟอ ตัวอะไรคะ เค้าก็ไม่เค้าใจ ใช้จำเอาอย่างเดียว ในขณะที่ถ้าถามน้องกันต์ which one sounds fer? น้องกันต์จะชี้ F ทันที

ที่เล่ามาไม่ได้หมายความว่า ลูกเราเก่งกว่าค่ะ แต่พยายามจะสื้อให้เห็นว่า การสอนตั้งแต่ยังเล็ก เด็กจะซึมซับอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่กดดัน ไม่เครียด ในขณะที่เมื่อโตแล้ว ความเชื่อ ทัศนคติบางอย่างเกิดแล้ว ยากที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กด้วย เด็กบางคน เปิดรับง่าย ชอบความท้าทาย เด็กบางคนกลัวความล้มเหลว ไม่อยากผิดพลาด ก็จะยากกว่า จิ๊อยากให้เรื่องนี้เป็นแนวคิด และเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ที่เจอคำถามลักษณะนี้ ให้เชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำค่ะ

สำหรับพ่อแม่ที่เริ่มตอนลูกโตแล้ว ไม่ได้หมายความว่า จะทำไม่ได้นะคะ อาจต้องหาแรงบันดาลใจมาก่อน และอาจจะต้องเหนื่อยขึ้นอีกนึด แต่สุดท้ายเมื่อผลลัพธ์บังเกิด ความหอมหวานของความสำเร็จ จิ๊เชื่อว่าไม่ต่างกันค่ะ