ก้าวย่างแห่งปีที่สามในการสร้าง “เด็กสองภาษา”

Posted by แม่น้องโมกข์ on January 16, 2012 at 3:27pm

ณ ปัจจุบันเป็นเวลา 2ปี กับ10เดือนนับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษาค่ะ

ขณะนั้นน้องโมกข์มีอายุได้ 1ขวบ9เดือน อุปสรรคจากภายนอกมีไม่มาก แต่อุปสรรคจากใจตัวเองนั้นมากมายและเอาชนะได้ยากกว่า  หลายครั้งที่แทบถอดใจ แต่ทุกครั้งก็กลับมาฮึดสู้ใหม่ หลายครั้งที่ต้องปรับกลยุทธ์ เพราะต้องการbalance ทั้งสองภาษา

ขอเปรียบเทียบพัฒนาการของทั้งสองภาษาตามมุมมองของคุณแม่แบบคร่าวๆค่ะ

ปีที่1 (อายุ 1ขวบ 9เดือน ถึง 2ขวบ 9เดือน)

ภาษาไทย : พัฒนาการได้ดีตามวัย ล้ำหน้าภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่สองอยู่มาก

ภาษาอังกฤษ: เพิ่งเริ่มต้น ฟังเข้าใจ พูดเป็นคำ วลีสั้นๆ ประโยคอย่างง่ายไม่ซับซ้อน

ปีที่2 (อายุ 2ขวบ 9เดือน ถึง 3ขวบ 9เดือน)

ภาษาไทย : ประโยคเริ่มมีความยาวและซับซ้อนขึ้น คำศัพท์มากขึ้นหลายเท่าตัว เริ่มเล่าเรื่องยาวตามจินตนาการ ใช้ภาษาอธิบายเหตุผลและความรู้สึกของตัวเองได้ดี

ภาษาอังกฤษ: ก้าวตามภาษาไทยมาติดๆ แต่ยังมีคลังศัพท์ที่ไม่มากเท่าภาษาไทย สร้างประโยคได้ยาวขึ้น แต่ยังใช้แกรมม่าผิดบ้างถูกบ้าง

ปีที่3 (อายุ 3ขวบ 9เดือน ถึง ปัจจุบัน 4ขวบ6เดือน)

ภาษาไทย : มีการหัดอ่านและเขียนภาษาไทยที่โรงเรียน (เป็นโรงเรียนแบบไทยไม่เน้นภาษาอังกฤษค่ะ)

ความเข้าใจในภาษาไทยมีมากขึ้นและลึกซึ้งขึ้น และพัฒนารูปแบบประโยคการพูดได้ซับซ้อน สามารถเลือกใช้รูปแบบของคำและประโยคได้หลากหลายตามสถานการณ์

ภาษาอังกฤษ: เป็นช่วงปีที่เรียกได้ว่า พัฒนาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่พุ่งปรู๊ดปร๊าดเหมือนเมื่อสองปีแรก อิทธิพลความถี่ของภาษาไทยที่โรงเรียน ทำให้บางครั้งน้องโมกข์นึกคำภาษาอังกฤษไม่ออก จึงทำให้การพูดสะดุดนิดหน่อย(มีตัวอย่างในคลิปวีดีโอล่าสุดค่ะ) แต่ยังสลับโหมดชัดเจน ไม่พูดภาษาไทยคำอังกฤษคำค่ะ

ปัจจัยแวดล้อมต่างๆมีผลกับการเรียนรู้ภาษาเป็นอย่างมาก ตัวอย่างพัฒนาการของน้องโมกข์อาจมีประโยชน์สำหรับครอบครัวที่ส่งลูกเข้าโรงเรียนไทยทั่วไป

คุณพ่อหรือคุณแม่ที่ทำหน้าที่พูดภาษาที่สองกับลูก อาจต้องปรับความถี่ให้มากขึ้นแต่ในขณะเดียวกันต้องใจเย็น และเข้าใจในสถานการณ์ของลูกที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นภาษาไทยมากขึ้นด้วย

หากลูกนึกคำที่ต้องการพูดไม่ออก ยุ้ยใช้วิธีรอ……รอสักสองสามวินาที(ยังไม่บอกในทันที)

หากยังไม่ได้ ยุ้ยอาจช่วยโดยการถามซ้ำว่า What does it call in English?  หรือ What do you call it ?

ที่ถามอย่างนี้เพราะยุ้ยทราบว่าเขารู้คำๆนี้เพียงแต่ลืมไปชั่วขณะ หากยังนึกไม่ออก ยุ้ยจะออกเสียงต้นให้ เช่น “ p (เพอะ)”  สำหรับ pillow  เป็นต้น

ขอประเมินความสามารถในการสื่อสารของน้องโมกข์เล่นๆในรอบสามปีค่ะ

หากคิดความสามารถในการสื่อสารภาษาที่หนึ่ง(ภาษาไทย)เป็น 100%

ปัจจุบันความสามารถในการสื่อสารภาษาที่สอง(ภาษาอังกฤษ) อยู่ที่ประมาณ80% ของภาษาไทยค่ะ

สำหรับครอบครัวยุ้ยถือว่าเป็นความสำเร็จในระดับที่พอใจค่ะ

เดือนเมษายนนี้น้องโมกข์จะได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเป็นครั้งแรก สงสัยสักพักยุ้ยคงต้องปรับความสมดุลในการใช้ภาษาที่บ้านอีกครั้ง

แล้วจะเขียนมาเล่าให้ฟังใหม่นะคะ

ขอให้มีความสุขและสนุกกับการเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของเจ้าตัวเล็กที่บ้านค่ะ

แม่ยุ้ย